สถิติการบล็อคเว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 500 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร!
January 20, 2007
[in English: Thai website censorship jumps by more than 500% since coup!]
กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) เพิ่งได้รับรายชื่อเว็บไซต์ล่าสุดที่ถูกบล็อคโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที)
เว็บไซต์ที่ถูกบล็อค ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2550 มีจำนวน 13,435 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้นกว่า 500 เปอร์เซ็นต์จากรายชื่อเว็บไซต์ 2,475 ห่งที่ถูกกระทรวงไอซีทีบล็อค ณ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2549 สถิติดังกล่าวรวบรวมหลังจากเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
นอกเหนือจากตัวเลขข้างต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่าปัจจุบันมีเว็บไซต์กว่า 32,500 แห่งที่สตช.บล็อคโดยตรง ยังไม่นับเว็บไซต์อีกไม่ทราบจำนวนที่ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บล็อคที่ระดับเกตเวย์อินเทอร์เน็ต (gateway) ของประเทศ ไม่มีใครเคยล่วงรู้ว่าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคแบบนี้คืออะไรบ้าง สตช.และกสท. ก็ไม่เคยอธิบายเกณฑ์ที่ใช้ในการบล็อคเว็บ
คณะรัฐประหารที่นำโดยผู้บัญชาการทหารบก พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน มองว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญมากเสียจนออกคำสั่งฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่งตั้งให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการ “ควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใดอันอาจส่งผลกระทบ” ต่อคณะรัฐประหาร คำสั่งนี้แปลว่า ดร. สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที คือผู้ทำหน้าที่เซ็นเซอร์แทนคณะรัฐประหาร
กระทรวงไอซีทีบล็อคเว็บไซต์ด้วยการ “ร้องขอ” ให้บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) บล็อคเว็บไซต์ตามรายชื่อที่กระทรวงไอซีทีทำขึ้นเป็นครั้งคราว ตามเงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม หลังจากนั้น กระทรวงไอซีทีจะ “ร้องขอ” การบล็อคด้วยการส่งอีเมลแบบ “ไม่เป็นทางการ” ไปยังไอเอสพีแต่ละราย
ปัจจุบันประเทศไทยมีไอเอสพีเชิงพาณิชย์กว่า 50 ราย และไอเอสพีที่ไม่แสวงหากำไรอีกประมาณ 10 ราย พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม กำหนดให้ไอเอสพีทุกรายต้องทำตามคำสั่งของรัฐบาลทุกข้อ มิฉะนั้นต้องเสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือบทลงโทษอื่น ๆ เช่นการจำกัดช่วงความถี่ (bandwidth)
รายชื่อเว็บไซต์ดังกล่าวข้างต้น ไม่เคยปรากฏเป็นข้อมูลสาธารณะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เมื่อมีเว็บไซต์ถูกบล็อคจำนวน 1,247 แห่ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีทีต้องส่งรายชื่อนี้ให้กับไอเอสพีทุกรายเพื่อให้ดำเนินการบล็อคได้
งบประมาณประจำปี 2550 ของกระทรวงไอซีที เท่ากับ 5,011 ล้านบาท ดูเหมือนว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตจะเป็นหน้าที่เพียงหนึ่งเดียวของกระทรวงแห่ง “ข้อมูลข่าวสาร” แต่แล้วกระทรวงไอซีทีก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนไทยผู้เสียภาษีได้รับทราบ
หมวด 3 ในรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ปี 2540 ปกป้องเสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงอินเทอร์เน็ตด้วย คณะรัฐประหารได้ “ฉีก” รัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ทำให้ประเทศตกอยู่ในสูญญากาศทางกฎหมาย ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังร่างไม่เสร็จ ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ยังเป็นรากฐานของกฎหมายไทยอยู่ จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นเจ้าของเว็บไซต์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยคำสั่งของศาลปกครอง ระหว่างที่กระบวนการฟ้องร้องของมหาวิทยาลัยยังไม่เริ่มต้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คดีความลักษณะนี้จะใช้เวลานานกว่า 10 ปีก่อนที่ศาลจะตัดสิน
ทั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและ FACT ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้รัฐยุติการปิดกั้นเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต คำร้องของ FACT ยังเปิดให้ลงชื่อสนับสนุนอยู่ ผ่านเว็บไซต์ https://facthai.wordpress.com
หลังจากเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน กระดานสนทนาในประเทศและช่องทางสื่อสารรูปแบบอื่นมากมายถูกบล็อค หรือได้รับคำสั่งให้เซ็นเซอร์ตัวเอง เท่ากับปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการจับกลุ่มสนทนา ไม่นานมานี้ เว็บ 19sep.org ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านคณะรัฐประหาร ถูกใส่เข้าไปในรายชื่อเว็บไซต์ที่กระทรวงไอซีทีบล็อค เป็นครั้งที่หกในรอบไม่กี่เดือน
รายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคโดยกระทรวงไอซีที ยาวขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่ากลัว สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะควบคุมความคิดและลิดรอนเสรีภาพของพลเมืองและ สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แม้ว่าการบล็อคเว็บไซต์จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกขับไล่ รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันได้นำเราเข้าสู่มิติใหม่แห่งการกดขี่
ปี ค.ศ. 2007 อาจเป็นปี 1984 ตามชื่อนิยายดังของจอร์จ ออร์เวลล์ สำหรับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21
กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT)
January 21, 2007 at 14:36
ชอบกลิ่นอึเหม็นๆ ก็คงมีแต่สุนัข
http://www.spiceday.com/watchdog/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=2913#3188
January 22, 2007 at 11:48
You have to compare with the new websites that open before and after the coupe.
February 3, 2007 at 18:52
[…] January 15th, 2007 [ภาษไทย: สถิติการบล็อคเว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้น…] […]